เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 16. โคจรนานัตตญาณนิทเทส
พระโยคาวจรกำหนดสัททะ (เสียง) ที่เป็นภายนอก อย่างไร
คือ กำหนดว่า “สัททะเกิดเพราะอวิชชา” ฯลฯ พระโยคาวจรกำหนดสัททะที่
เป็นภายนอกอย่างนี้
พระโยคาวจรกำหนดคันธะ (กลิ่น) ที่เป็นภายนอก อย่างไร
คือ กำหนดว่า “คันธะเกิดเพราะอวิชชา” ฯลฯ พระโยคาวจรกำหนดคันธะที่
เป็นภายนอกอย่างนี้
พระโยคาวจรกำหนดรสที่เป็นภายนอก อย่างไร
คือ กำหนดว่า “รสเกิดเพราะอวิชชา” ฯลฯ พระโยคาวจรกำหนดรสที่เป็น
ภายนอกอย่างนี้
พระโยคาวจรกำหนดโผฏฐัพพะที่เป็นภายนอก อย่างไร
คือ กำหนดว่า “โผฏฐัพพะเกิดเพราะอวิชชา” ฯลฯ พระโยคาวจรกำหนด
โผฏฐัพพะที่เป็นภายนอกอย่างนี้
พระโยคาวจรกำหนดธรรมารมณ์ที่เป็นภายนอก อย่างไร
คือ กำหนดว่า “ธรรมารมณ์เกิดเพราะอวิชชา” กำหนดว่า “ธรรมารมณ์เกิด
เพราะตัณหา” กำหนดว่า “ธรรมารมณ์เกิดเพราะกรรม” กำหนดว่า “ธรรมารมณ์
เกิดเพราะอาหาร (อาศัยหทัยวัตถุ)” กำหนดว่า “ธรรมารมณ์เกิดแล้ว” กำหนดว่า
“ธรรมารมณ์มาร่วมกันแล้ว” กำหนดว่า “ธรรมารมณ์ไม่มีแล้วเกิดมี มีแล้วจักไม่มี”
กำหนดธรรมารมณ์โดยความเป็นของมีที่สุด คือกำหนดว่า “ธรรมารมณ์ไม่
ยั่งยืน ไม่เที่ยง มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา” กำหนดว่า “ธรรมารมณ์ไม่เที่ยง
ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เสื่อมไปเป็น
ธรรมดา คลายไปเป็นธรรมดา ดับไปเป็นธรรมดา”
กำหนดธรรมารมณ์โดยความไม่เที่ยง ไม่กำหนดโดยความเที่ยง กำหนดโดย
ความเป็นทุกข์ ไม่กำหนดโดยความเป็นสุข กำหนดโดยความเป็นอนัตตา ไม่กำหนด
โดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมทำ
ราคะให้ดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ยึดถือ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :113 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 17. จริยานานัตตญาณนิทเทส
เมื่อกำหนดโดยความไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้ เมื่อกำหนดโดยความเป็น
ทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้ เมื่อกำหนดโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญาได้
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละนันทิได้ เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละราคะได้ เมื่อทำราคะให้ดับ
ย่อมละสมุทัยได้ เมื่อสละคืน ย่อมละอาทานะได้ พระโยคาวจรกำหนดธรรมารมณ์
ที่เป็นภายนอกอย่างนี้
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดธรรมต่าง ๆ ที่เป็นภายนอก
ชื่อว่าโคจรนานัตตญาณ
โคจรนานัตตญาณนิทเทสที่ 16 จบ

17. จริยานานัตตญาณนิทเทส
แสดงจริยานานัตตญาณ
[68] ปัญญาในการกำหนดจริยา ชื่อว่าจริยานานัตตญาณ เป็นอย่างไร
คือ คำว่า จริยา อธิบายว่า จริยา 3 อย่าง ได้แก่
1. วิญญาณจริยา
2. อัญญาณจริยา
3. ญาณจริยา
วิญญาณจริยา เป็นอย่างไร
คือ ความคิดเพื่อดูรูปทั้งหลายอันเป็นเพียงกิริยาอัพยากฤต ชื่อว่าวิญญาณ-
จริยา จักขุวิญญาณที่เป็นแต่เพียงเห็นรูป ชื่อว่าวิญญาณจริยา มโนธาตุอันเป็นวิบาก
ที่ขึ้นสู่อารมณ์ ชื่อว่าวิญญาณจริยา เพราะได้เห็นรูปแล้ว มโนวิญญาณธาตุอัน
เป็นวิบาก ชื่อว่าวิญญาณจริยา เพราะขึ้นสู่รูปแล้ว
ความคิดเพื่อฟังเสียงอันเป็นเพียงกิริยาอัพยากฤต ชื่อว่าวิญญาณจริยา
โสตวิญญาณที่เป็นแต่เพียงฟังเสียง ชื่อว่าวิญญาณจริยา มโนธาตุอันเป็นวิบากที่ขึ้น
สู่อารมณ์ ชื่อว่าวิญญาณจริยา เพราะได้ฟังเสียงแล้ว มโนวิญญาณธาตุอันเป็น
วิบาก ชื่อว่าวิญญาณจริยา เพราะขึ้นสู่เสียงแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :114 }